ยุคที่ AI ผูกติดกับชีวิตมนุษย์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นี้ก็อยู่กับเรายิ่งกว่าเพื่อนสนิท ไม่นานมานี้เราก็ตื่นเต้นกับ ChatGPT ป้อนคำถามไปไม่กี่วินาทีก็ได้คำตอบ สนุก ตื่นเต้นบ้าง แปลก ๆ ฮา ๆ ก็เยอะ
AI โตเร็วและกระหายน้ำมาก ยิ่งเติบโตก็ยิ่งกินน้ำเยอะ ตัวเลขการ “ดื่ม” น้ำของ ChatGPT-3 ของ AI ต่อ 1 คำถาม ใช้น้ำราว 48 มิลลิลิตร ถ้า 10 – 50 คำถาม ใช้น้ำ 500 มล. (น้ำดื่มขวดปกติ = 600 มล.)
มีผู้ประเมินตัวเลขว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ ขนาด 100 เมกะวัตต์ ใช้น้ำราว 1.1 ล้านแกลลอนต่อวัน
การทำงานในดาต้าเซ็นเตอร์ (Cr.image by storyset on Freepik)
วิถีชีวิตคนยุคใหม่ผูกติดกับเทคโนโลยีและ AI อย่างหนีไม่พ้น เปิดมือถือมาเลือกร้าน สั่งอาหาร คิดค่าอาหาร จ่ายสตางค์ สแกนหน้า ลายนิ้วมือ เปิดกูเกิ้ลแมป สตรีมมิ่งดูซีรีส์ ฯลฯ ในการทำงานใช้ประมวลผลระบบอัลกอรึทึม ทำกราฟิก แปลภาษา วิเคราะห์การตลาด ถามตอบลูกค้าเรียลไทม์ ฯลฯ
มนุษย์ให้ AI ช่วยทำงานแต่ก็ใช้น้ำเยอะ AI ต้องใช้ระบบประมวลผลจาก ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเปลืองที่สุด รายงานจากวารสาร Environmental Research Letters ตีพิมพ์เมื่อปี 2021 ระบุว่า อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ ในอเมริกา ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสะอาดในอเมริกาไปราว 90%
ดาต้าเซ็นเตอร์ ประกอบด้วยอะไรจึงใช้น้ำเยอะ นึกภาพอาคารสำนักงานทั่วไปแต่เต็มไปด้วย "ตู้" พร้อมสายไฟระโยงระยาง ซึ่งคือระบบจัดเก็บและประมวลข้อมูลหรือเซิร์ฟเวอร์ เราเตอร์ ระบบจัดเก็บ คลาวด์ ดิจิทัล เอไอ สตรีมมิ่งเกม ดนตรี ภาพยนต์ ข้อมูลและบริการต่าง ๆ
เซิร์ฟเวอร์ในดาต้าเซ็นเตอร์ (Cr.image by DC Studio on Freepik)
การทำงานของดาต้าเซ็นเตอร์ จำเป็นต้องใช้น้ำสะอาดในการระบายความร้อน เหมือนหม้อน้ำรถยนต์ที่ใช้น้ำทำให้เครื่องเย็นลง เพราะเซิร์ฟเวอร์นอกจากกินไฟแล้วยังกระหายน้ำตลอดเวลา
ระบบประมวลผลของเซิร์ฟเวอร์จะทำงาน 24 ชม. ปิดไม่ได้ เครื่องจึงร้อนต้องระบายความร้อน โดยใช้อากาศ พัดลม แอร์ และใช้ “น้ำเย็น” ส่งผ่านท่อไปดูดซับความร้อนจากเซิร์ฟเวอร์
หลายพื้นที่ในอเมริกา ประชาชนออกมาประท้วง (Cr.disconnect.blog)
สำนักงาน ดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งเล็กและใหญ่ทั่วโลก ก่อตั้งไปแล้วราว 9,000 – 11,000 แห่ง ในหลายประเทศ ประเทศไทยก็กำลังแข่งกับสิงคโปร์ พยายามผลักดันให้ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อหวังผลเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ
แต่ไม่ควรลืมว่า การมีอยู่ของระบบประมวลผลใช้น้ำมหาศาล ใช้ไฟเยอะ ใช้น้ำเยอะ ทุกปีไทยมีปัญหาภัยแล้ง ปัญหาการใช้น้ำของ AI ผู้หิวกระหายกับเกษตรกร กับชาวบ้าน ที่ต้องใช้น้ำเพื่อดำรงชีพอาจเกิดข้อพิพาท ชาวบ้านประท้วง อีกทั้งไม่คุ้มกับการจ้างงานเมื่อต้องแลกกับทรัพยากรน้ำ หลายเมืองในอเมริกาและหลายประเทศในอเมริกาใต้ ประชาชนออกมาต่อต้าน
สงครามน้ำระหว่างมนุษย์กับ AI (Cr.bisnow.com)
การศึกษาของมหาวิทยาลัยโคโลราโด ริเวอร์ไซด์ แลมหาวิทยาลัยเท็กซัส อาร์ลิงตัน พบว่า ความกระหายน้ำของ AI จะมากกว่าคำถามละ 500 มล. เพราะต่อไปคนจะยิ่งใช้ AI มากขึ้น ข้อมูลเปิดเผยว่า การฝึกฝน การใช้ GPT-3 ของไมโครซอฟต์เท็กซัส ประมาณการใช้น้ำไป 7 แสนลิตร
และคาดว่า ปริมาณการกระหายน้ำของ AI ที่มาตั้งในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และเมื่อสิ้นทศวรรษนี้ ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นอีก 40%
ในเมืองดัลลัส รัฐโอเรกอน ประเมินการใช้น้ำของ ดาต้าเซ็นเตอร์ กูเกิ้ล ไว้ว่าใช้น้ำไปเมื่อปี 2021 ราว 355 ล้านแกลลอน และเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในปี 2016 ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำมากกว่า 1 ใน 4 ที่คนทั้งเมืองใช้ต่อปี เช่นนี้แล้วจึงเกิด สงครามน้ำ ระหว่างมนุษย์กับ AI
ดาต้าเซ็นเตอร์ อยู่ในน้ำ (Cr.spectrum.ieee.org)
อย่างไรก็ดี นักวิจัยพยายามหาหนทางให้ AI Less Thirsty ลดดื่มน้ำลง ใช้เทคโนโลยีและความรู้สารพัดเพื่อลดการใช้น้ำ เช่น ใช้น้ำรีไซเคิลแทนน้ำประปา และโครงการเติมน้ำกลับทดแทนน้ำที่ใช้ไป หาทางบำบัดน้ำ จนถึงหาแหล่งน้ำสะอาด
ข่าวดียิ่งขึ้นว่า นักวิทยาศาสตร์พยายามหาหนทางลดการกระหายน้ำของ AI เช่น ไมโครซอฟต์ พัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ ให้ไปอยู่ในน้ำ อยู่ใต้ทะเลลงไปเลยเพื่อลดความร้อน ในจีนก็พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลให้ลงไปอยู่ใต้น้ำ
เพื่อความเป็นธรรมต่อโลก เจ้าของ ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ร่ำรวยเหล่านี้ต้องแก้ปัญหาวิกฤติน้ำที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยการมีอยู่ของเทคโนโลยีเหล่านี้ใช้ไฟเปลือง น้ำเปลือง และปล่อยคาร์บอนอีก
ภาพประมาณการใช้น้ำในดาต้าเซ็นเตอร์ (Cr.blog.zutacore.com)
หนทางกู้โลกที่กำลังขาดน้ำจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ (บังคับ) และการวัดความกระหายน้ำของ AI เรียกว่า AI’s Water Footprint
รวมถึงเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 ของรัฐบาลไทยจะเป็นไปได้แค่ไหน เมื่อยังเร่งผลักดันสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์